วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

บทบาทของ OPEC ต่อราคาน้ำมันในอดีต

         บทความพิเศษ   วงกต วงศ์อภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ wongkot_w@yahoo.com   มติชนรายสัปดาห์  วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 24 ฉบับที่ 1256หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ หรือกลุ่มโอเปค-OPEC (Organisation of Petroleum Exporting Countries) ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2503 ด้วยสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศอันประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย อิรัก อิหร่าน คูเวต และ เวเนซุเอลา โดยมีสำนักงานใหญ่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งของกลุ่มจากการค้าขายน้ำมัน อีกเพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น โลกก็ได้รับรู้ถึงบทบาทและความสำคัญของกลุ่ม OPEC จากการจำกัดเพดานผลิตและความผันผวนของราคาน้ำมันดิบของโลกที่มีความแตกต่างไปจากเดิม
ในปัจจุบัน กลุ่ม OPEC ได้มีสมาชิกเพิ่มเติมอีก 6 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย และอินโดนีเซีย และได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในปี 2508 พร้อมกับอำนาจต่อตลาดน้ำมันดิบในโลกที่มากยิ่งขึ้นตามจำนวนสมาชิก
     ปริมาณน้ำมันสำรอง
ดังที่ทราบกันทั่วไป สิ่งที่ทำให้กลุ่ม OPEC มีอำนาจที่ทรงพลังต่อระบบเศรษฐกิจโลกนั้น คือ น้ำมันดิบ หรือที่มีการเปรียบกันว่าเป็น ทองสีดำ (Black gold) กลุ่ม OPEC มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่สามารถขุดขึ้นมาใช้ได้ในยุคปัจจุบัน (Proved reserves) ที่มากที่สุดของโลก ซึ่งโดยรวมแล้วพบว่า คิดเป็นปริมาณสำรองกว่าสามในสี่ของโลก
ซาอุดีอาระเบีย คือประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในกลุ่ม OPEC คิดเป็นปริมาณถึงราวหนึ่งในสี่ของโลก และด้วยความที่มีน้ำมันดิบสำรองเป็นจำนวนมากนี้ ทำให้ ซาอุดีอาระเบียและดินแดนตะวันออกกลาง เป็นศูนย์กลางของประเทศกลุ่มโอเปค และมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อสังคมโลกเป็นอย่างสูงมาโดยตลอด นับแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ที่น้ำมันได้กลายมาเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกแทนที่ถ่านหินที่มีความยุ่งยากในการใช้งาน รวมถึงมีมลพิษ ที่มากกว่า
จากข้อมูลปริมาณน้ำมันดิบสำรองของโลกที่รวบรวมโดย บีพี ฉบับล่าสุด (ณ สิ้นปี 2545) นั้น พบว่า โลกยังมีปริมาณสำรองที่ใช้เพื่อรองรับการผลิตใช้งานที่สภาวะปัจจุบัน (Reserves/Production ratio) ได้อีกประมาณ 40 ปี (เปรียบค่านี้ง่ายๆ คือ หากโลกยังคงใช้น้ำมันในการผลิตเท่ากับที่ใช้อยู่ปัจจุบันไปเรื่อยๆ อย่างคงที่ เราจะมีน้ำมันดิบใช้กันอีก 40 ปี โดยค่านี้จะไม่สนใจปริมาณน้ำมันดิบที่คาดว่าจะใช้ในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีค่าที่สูงขึ้น แต่อย่างใด หากแต่จะสนใจเฉพาะปริมาณน้ำมันที่ใช้ในปัจจุบันเท่านั้น) ในขณะที่กลุ่มประเทศ OPEC มีปริมาณสำรองรองรับได้ถึง 82 ปี โดยซาอุดีอาระเบียอีกเช่นกัน ที่เป็นประเทศที่มีค่าสูงที่สุดของโลก ตามมาด้วยเวเนซุเอลา และอิหร่าน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ว่าเหตุใดซาอุดิอาระเบียจึงเปรียบเสมือน "มิตรรัก" ของประเทศสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามอ่าวครั้งแรก หรือในครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐเองเป็นประเทศที่มีการใช้น้ำมันมากที่สุดของโลก และ คงจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอีกเช่นกัน ที่สหรัฐยอมขายเทคโนโลยีทางการทหารชั้นสูง เช่น เครื่องบินรบระดับแนวหน้าบางรุ่น ที่เดิมไม่ยอมขายให้แก่ประเทศใด ให้แก่เฉพาะซาอุดีอาระเบีย
     OPEC และการผลิตน้ำมัน
แม้จะมีปริมาณน้ำมันดิบสำรองสูงที่สุดในโลก แต่กลุ่ม OPEC ไม่ได้ผลิตน้ำมันดิบมากถึงในสัดส่วนขนาดนั้น ในปี 2545 กลุ่ม OPEC มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันดิบเพียง 38% ของปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตทั่วโลก (ในขณะที่กลุ่มมีปริมาณน้ำมันสำรองถึงสามในสี่ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น) หากแต่ว่า สิ่งที่น่าสนใจคือปริมาณที่กลุ่มสามารถผลิตได้เกือบทั้งหมดได้ถูกส่งออกไปจำหน่ายแก่ประเทศต่างๆ ทำให้ OPEC มีสัดส่วนของการส่งออกน้ำมันไปจำหน่ายคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ผลของการส่งออกน้ำมันในปริมาณที่มากนี้เอง ที่ทำให้ กลุ่ม OPEC ถูกเรียกขานเฉพาะว่ามีลักษณะเป็น Cartel (คือลักษณะของกลุ่มผู้ผลิตที่มีเป้าหมายร่วมกันในการกำหนดราคาสินค้าตนตามต้องการ โดยอาศัยหลักการจำกัดสินค้าไม่ให้มีมากเกินไป และจำกัดการแข่งขันในตลาด คล้ายกับกรณีการกำหนดราคาเพชรโดย เดอ เบียร์ ในตลาดค้าเพชรของโลก)
และผลของลักษณะตลาดแบบ Cartel ก็คือการแสดงถึงอำนาจต่อตลาดที่มองไม่เห็น แต่ส่งผลในด้านลบที่ชัดเจนในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก และ ครั้งที่สอง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นถึงกว่า 10 เท่า (จากรูป) ภายในเวลาเพียง 8 ปี เมื่อเทียบกับปี 2515 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤตการณ์ (ดูรายละเอียดของวิกฤตการณ์น้ำมันทั้งสองครั้งได้ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 1248; 16 ก.ค.2547)
หรือแม้กระทั่ง ผลในด้านบวกต่อผู้ใช้น้ำมันคือการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน หลังจากสิ้นสุดสงครามอ่าว (อิรัก-คูเวต) ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดำดิ่งอย่างต่อเนื่องลงมาจากราว 24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2534 เหลือเพียง 13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2541
ทั้งสองกรณีที่มีผลลัพธ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้น มีเหตุผลบางส่วนมาจาก แนวคิดที่แตกต่างกันภายในกลุ่ม OPEC
     สองแนวคิดที่แตกต่าง
ในกลุ่มประเทศ OPEC เอง แม้จะมีการรวมกลุ่มกันมายาวนาน แต่แน่นอนว่าจากผลประโยชน์ด้านรายได้ที่มีมากโข อีกทั้งกลุ่มประเทศ OPEC แทบทุกประเทศนั้น มีรายได้หลักของประเทศตนมาจากการค้าน้ำมันดิบเป็นหลัก โดยแทบจะไม่มีรายได้ประเทศมาจากการผลิตสินค้าอื่นใด
ดังนั้น กลุ่มประเทศเหล่านี้ จะไม่ได้คิดว่า น้ำมันเป็นเพียงสินค้าส่งออกของประเทศทั่วไป หากแต่เป็นสินค้าที่มีความสำคัญสูงสุดอย่างชัดเจน
และเพื่อให้มีรายได้สูงสุดนั้น หากว่ากันตามหลักการเพิ่มรายได้ของการค้าขายแบบทั่วไป พบว่าจะมีอยู่สองวิธีง่ายๆ ที่จะสามารถเพิ่มรายได้ของตนได้ คือ หนึ่ง การเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อขายให้มากขึ้น และ สอง เพิ่มราคาขายน้ำมันดิบให้สูงขึ้น
ในกลุ่ม OPEC นั้น ก็ใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน
แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมการผลิตน้ำมันดิบกันก่อนว่า การนำน้ำมันดิบขึ้นมาใช้นั้นต้องมีการขุดเจาะ โดยใช้เทคโนโลยีในการสำรวจและขุดเจาะที่สูง และเทคโนโลยีเหล่านั้นมักจะมาจากการเปิดสัมปทานแหล่งน้ำมันของตนเองให้บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก (แน่นอนว่า มาจากประเทศข้ามชาติจากตะวันตกเป็นส่วนใหญ่) มาทำการขุดเจาะให้
ดังนั้น น้ำมันดิบจึงเป็นสินค้าพิเศษที่มีต้นทุนในการผลิตในช่วงแรกสูงมาก (เพราะต้องลงทุนค่าเทคโนโลยีสูง) แต่เมื่อได้สำรวจและขุดเจาะแล้ว ต้นทุนในการผลิตน้ำมันดิบจะถือว่าต่ำมากในเวลาต่อมา เนื่องจากจะไม่ต้องมีต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มเติม ซึ่งจะต่างไปจากการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วๆ ไป
แน่นอนว่า ด้วยลักษณะพิเศษของน้ำมันดิบเช่นนี้ ทำให้ต้นทุนในระยะยาวลดต่ำลงเรื่อยๆ และทำให้กลุ่มประเทศ OPEC แบ่งเป็นสองแนวคิดคือ
          กลุ่มประเทศที่ต้องการผลิตน้ำมันดิบมาจำหน่ายในปริมาณมากๆ โดยไม่นิยมให้ราคาน้ำมันดิบสูงเกินไปนัก (ยึดหลักตั้งราคาไม่สูงนัก แต่ขายให้มากๆ จะได้กำไรมากตามมาเอง) เนื่องจากจะเกรงถึงผลกระทบด้านการขึ้นราคาน้ำมันดิบของตน ที่อาจส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศผู้ซื้อน้ำมันลดต่ำลงรวมถึงอาจส่งผลในลักษณะบูมเมอแรงในสินค้าของต่างประเทศที่จะต้องนำเข้ามาบริโภคภายในประเทศของตน ที่อาจต้องนำเข้ามาในราคาที่สูงขึ้น อันเนื่องมาจากประเทศผู้ผลิตเหล่านั้นซื้อน้ำมันดิบด้วยราคาที่สูงขึ้นนั่นเองกลุ่มเหล่านี้จะเป็นประเทศที่มีแหล่งน้ำมันสำรองมาก เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรือ คูเวตในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้น จะมีปริมาณน้ำมันสำรองต่ำกว่ากลุ่มประเทศข้างต้น ดังนั้น จึงต้องการให้ราคาน้ำมันดิบมีราคาที่สูงขึ้นมากๆ เพื่อเพิ่มกำไร (ยึดหลักขายในปริมาณไม่มากนัก แต่ราคาขายสูงๆ เพื่อให้ได้กำไรสูงๆ ในเวลาอันรวดเร็ว)กลุ่มนี้ประกอบด้วย ไนจีเรียและอิหร่าน ดังนั้น ในช่วงปี 2529 ถึง 2541 ที่ราคาน้ำมันตกต่ำอันเนื่องมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม ประเทศเหล่านี้จึงถูกผลกระทบมากกว่ากลุ่มแรกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงแนวคิดที่ต่างกันนี้คือ ซาอุดีอาระเบียที่ต้องการให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ไม่เกิน 25 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวเนซุเอลา กลับต้องการให้มีราคาที่ไม่ต่ำกว่า 28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อแนวคิดมีความแตกต่างกันเช่นนี้ ทางกลุ่มเองย่อมต้องมีวิธีการจัดการภายใน นั่นคือการกำหนดโควตาในการผลิตน้ำมัน เพื่อสร้างกลไกด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกให้อยู่ภายใต้การควบคุมของปริมาณการผลิตแต่ทว่า มีบ่อยครั้งที่บางประเทศในกลุ่มที่ไม่สามารถทนระดับการผลิตที่ต่ำได้ และได้ตัดสินใจฝืนมติกลุ่ม เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมากกว่าโควตาของตนเองอย่างเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2525-2527 ที่กลุ่ม OPEC ได้กำหนดโควตาการผลิต เพื่อทรงราคาน้ำมันที่สูงมากภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองใกล้สิ้นสุดลง แต่ทว่า มีหลายประเทศในกลุ่มที่แอบผลิตน้ำมันดิบเกินโควตาที่ตนเองได้รับ ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่ม ต้องทำหน้าที่คล้ายประเทศที่คอยยืดหยุ่นปริมาณการผลิตรวมของกลุ่มไม่ให้มีสูงเกินไป
          นั่นหมายถึง ซาอุดีอาระเบียต้องยอมแบกรับภาระในการลดปริมาณการผลิตของตนเองลง เพื่อรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จากการที่มีบางประเทศในกลุ่มทำการผลิตเพิ่มนั่นเองเมื่อประกอบกับแรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐ ในที่สุด ความอดทนของซาอุดีอาระเบียก็ได้สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2528 และได้ตัดสินใจเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบของตนเอง จาก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวันส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบลดลงจากกว่า 35 เหรียญสหรัฐเหลือเพียงราว 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี 2529การละเมิดโควตาการผลิตของกลุ่มได้เกิดขึ้นมาโดยตลอด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำมันดิบมีราคาที่ต่ำลงมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เช่น ในช่วงปี 2541 แต่การละเมิดกำลังผลิตเพื่อสร้างรายได้และกดราคาน้ำมันที่สูงลิ่วให้ต่ำลงนั้น จะมีความเป็นไปได้ในยุคปัจจุบันหรือไม่นั้น
นับเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น